ประวัติการก่อตั้งและการดำเนินงานศาลเจ้าท่งเฮงตั๊ว
ศาลเจ้าท่งเฮงตั๊วตั้งอยู่ริมคลองดำเนินสะดวก ด้านฝั่งทิศใต้ หมู่ที่ ๖ ต.ศรีสุราษฎร์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เดิมท้องที่นี้เป็นที่ว่างเปล่า บางแห่งเป็นสวน และเป็นป่ารกซึ่งเต็มไปด้วยต้นอ้อและต้นแขม ต่อมามีชาวจีนจากโพ้นทะเลได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานขึ้นในที่ซึ่งเคยว่างเปล่ารกร้างทำการเบิกถางเป็นไร่สวน ประกอบกับผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพิธีกินเจ(กิ๋วอ๊วงเจ) ซึ่งเป็นประเพณีปีละครั้ง พิจารณาเห็นว่าในท้องที่บริเวณใกล้เคียงนี้ยังขาดโรงเจใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลในเทศกาลกินเจร่วมกัน จึงได้มีบุคคลคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วย นายเละ แซ่ซิ้ม นายป๋อท้ง แซ่ซิ้ม นายเกี้ยงเจียง แซ่ซิ้ม นายตะกอ แซ่ซิ้ม นายโอวจ้อ แซ่ตัน นายสุ่ยฮู้ แซ่เฮ้ง กับอีกบางท่านที่ไม่ทราบชื่อ ได้ดำริริเริ่มที่จะสร้างโรงเจขึ้นในท้องที่นี้ จึงได้ร่วมกันสละทรัพย์สมบัติ กำลังและแรงใจพร้อมชักชวนผู้มีจิตเลื่อมใสเข้าร่วมด้วย
จนเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ คณะผู้ริเริ่มจึงได้ซื้อบ้านเก่าหลังหนึ่งในคลองลัดราชบุรี(ไม่ทราบชื่อเจ้าของบ้าน) เจ้าของบ้านทราบว่าจะรื้อมาปลูกทำโรงเจก็เกิดศรัทธาจึงอัญเชิญพระพุทธรูปในบ้าน ๒ องค์ให้มาประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชาในโรงเจนี้(พระพุทธรูป ๒ องค์นี้ยังคงอยู่ในปัจจุบัน) เมื่อรื้อบ้านหลังนี้มาปลูกเป็นเรือนไม้หลังคามุงจากได้หนึ่งหลังพอดี และได้จัดให้มีการบำเพ็ญกุศลในเทศกาลกินเจอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ไดัให้ชื่อโรงเจว่า "ท่งเฮงตั๊ว" พร้อมกันนั้นคณะผู้ก่อตั้งและผู้ร่วมบำเพ็ญกุศลกินเจ(เจอิ๊ว)ได้ตกลงเลือก นายป๋อท้ง แซ่ซิ้ม เป็นผู้จัดการบริหาร(ตั้วจู้)โรงเจแต่ผู้เดียว
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ นายเละ แซ่ซิ้ม หนึ่งในผู้เริ่มก่อตั้งโรงเจและเป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของที่ดินได้ให้ทัศนะว่า โรงเจเป็นของส่วนรวมสมควรตั้งอยู่ในที่ดินซึ่งโรงเจเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เอง จึงได้ไปติดต่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์(เจ้าจอมมารดาแพในรัชกาลที่๕)เจ้าของที่ดินขอให้ยกที่ดินที่ปลูกโรงเจให้กับโรงเจท่งเฮงตั๊วเป็นกรมมสิทธิ์ ซึ่งท่านก็ยินดียกให้โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ แต่ในขณะนั้นยังไม่มีการรังวัดโฉนดเพียงแต่มีการชี้แนวเขตที่ดินส่วนที่ยกให้โรงเจเท่านั้น
พ.ศ. ๒๔๔๐ นายป๋อท้ง แซ่ซิ้ม ตั้วจู้ถึงแก่กรรมลง คณะผู้ก่อตั้งและเจอิ้วจึงได้เลือกนายโฮวลิว แซ่ซิ้ม เป็นตั้วจู้แทน ในขณะเดียวกันก็ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์โรงเจบางส่วน
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้สร้างองค์กิมซิ้งกิวอ๊วงฮุดโจ้ว เต้าบ้อ กวงอิมเนี้ย ทีตี่เป่บ้อ หน่ำปักเตัา เป็นไม้แกะสลักจากประเทศจีนไว้เป็นที่สักการะบูชาในโรงเจ
พ.ศ.๒๔๕๗ บรรดาญาติธรรม(เจอิ้ว) เกิดมีข้อพิพาทกับตั้วจู้(ผู้ปกครอง) นายโฮ่วลิว แซ่ซิ้ม เกี่ยวกับการจัดงานบางอย่างและบัญชีการเงินไม่ค่อยเรียบร้อย จึงลงมติเลือก นายใช่กุ่ย แซ่ลิ้ม เป็นจ๋งหลี้(ผู้จัดการ) รับหน้าที่จัดการโรงเจ พร้อมทั้งได้คัดเลือกกรรมการอีกหลายท่านให้เป็นผู้ช่วยเหลือ ส่วนนายโฮ่วลิว คงเป็นตั้วจู้ในนามทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเท่านั้น
พ.ศ. ๒๔๖๑ ทางโรงเจได้สร้างฮุดคำ(ที่ตั้งพระพุทธรูป) ใช้ไม้สักแกะสลักลวดลายปิดทอง
พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้เปลี่ยนเครื่องบนหลังคาจากมุงจาคมาเป็นสังกะสีและบูรณะซ่อมแซมภายในบางส่วน พร้อมเปลี่ยนสภาพจากโรงเจเป็นศาลเจ้าท่งเฮงตั๊ว ตามความในกฎเสนาบดีว่าด้วยกุศลสถานชนิดศาลเจ้า ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๓
พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้สร้างต่อเติมอาคารด้านหลังอีกหนึ่งหลังเป็นอาคารฝากระดานมุงสังกะสี
พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้สร้างอาคารหลังหน้า(ไม้เต็ง)พื้นเพดานไม้จริง เสาคานจั่วเทปูน หลังคามุงกระเบื้อง โบกปูน มีลวดลายศิลปแบบจีน
ภาพศาลเจ้าซึ่งไดรับการบูรณะในปี พ.ศ.2474 บันทึกไว้ในปี 2497 เป็นศาลเจ้าในยุคที่ 2
(ยุคแรกอาคารหลังคามุงจากไม่มีการบันทึกภาพไว้)
พ.ศ. ๒๔๗๖ นายโฮ่วลิว แซ่ซิ้ม ผู้ปกครองศาล(ตั้วจู้) ถึงแก่กรรมลงทางคณะกรรมการจึงเลือกนายก่วย แซ่ซิ้มเป็นผู้ปกครองศาลแทน
พ.ศ. ๒๔๗๘ นายก่วย แซ่ซิ้ม ได้ถึงแก่กรรมลงอีก แต่ไม่มีการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่แทน จนพ.ศ. ๒๔๘๐ คณะกรรมการและญาติธรรม(เจอิ้ว)ได้เลือกนายช่งง้วน สุทธยากรณ์(แซ่ซิ้ม)เป็นผู้ปกครองศาลเจ้า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทางราชการมีหนังสือแต่งตั้งมาให้มีตำแหน่งหน้าที่ปกครองศาลเจ้าอย่างเป็นทางการ
พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้ขยับขยายเรือนขวางด้านตะวันออกให้กว้างใหญ่ขึ้น หลังคามุงสังกะสีเช่นเดียวกัน
พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้เกิดกรณีพิพาทแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินด้านตะวันตกของศาลเจ้าขึ้น จนถึงพ.ศ.๒๕๐๑ ศาลฎีกาจึงได้พิพากษาให้ที่ดินที่พิพาทกันเป็นกรรมสิทธิ์ของศาลเจ้าท่งเฮงตั๊วโดยชอบธรรม
พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินมาทำการรังวัดปักหลักเขตที่ดินทั้งหมดของศาลเจ้าและออกโฉนดไว้เป็นหลักฐาน คิดเป็นเนื้อที่ทั้งหมด ๔ ไร่ ๘๐ ตารางวา
พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้สร้างสะพานทางเท้าด้านหน้าทั้งสองข้างของศาลเจ้าจรดริมคลองท่าน้ำ
พ.ศ. ๒๕๐๔ นางหมุยสิ่ว แซ่ซิ้ม ได้มีจิตศรัทธาสร้างศาลาท่าน้ำขึ้นสองหลังคร่อมหัวสะพานทั้งสองด้านไว้เป็นที่นั่งพักผ่อน
พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้สร้างเขื่อนริมคลองดำเนินสะดวกตลอดหน้าศาลเจ้าท่งเฮงตั๊ว
พ.ศ. ๒๕๑๐ นางหมุ่ยเคี้ยว แซ่ลิ้ม นางหมุ่ยฮุ้น แซ่ลิ้ม สองคนพี่น้องได้มีจิตศรัทธาสร้างอ่วงป๋อถะ(เจดีย์เผากระดาษเงินกระดาษทอง)ขึ้นหนึ่งลูกแทนของเก่าที่ชำรุดใช้การไม่ได้
พ.ศ. ๒๕๑๐ เจอิ้วและผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมใจกันบูรณะอาคารศาลเจ้าใหม่เป็นอาคารสถาปัตกรรมจีนตามรูปข้างล่าง
ศาลเจ้าได้รับการบูรณะในปีพ.ศ. 2510 เป็นศาลเจ้าในยุคที่ 3
พ.ศ. ๒๕๑๑ พระรูปกิ๋วอ่วงฮุดโจ้ว เต้าบ้อ กวงอิมเนี้ย ทีตี่เป้บ้อ หน่ำปักเต้า พระรูปเหล่านี้ได้สร้างมาประมาณ ๕๖ ปีแล้ว ย่อมชำรุดตามกาลเวลา คณะกรรมการจึงได้ร่วมกันซ่อมแซมใหม่และปิดทองทั้งองค์ให้อยู่ในสภาพสวยงาม พร้อมกันนี้ได้สร้างศาลาหน้าศาลเจ้ามุงสังกะสีขึ้นหนึ่งหลังด้วย
พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๒ เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารและมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ศาลเจ้าครั้งใหญ่ ได้มีการสร้างหอประชุม และโรงครัวขึ้นใหม่ให้ถูกสุขอนามัยเพื่อใช้ในเทศกาลกินเจและกิจการงานของศาลเจ้า อีกทั้งยังให้ประชาชนในท้องที่ได้ใช้จัดงานมงคลอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังได้บูรณะสร้างอาคารด้านหน้าขึ้นใหม่แทนอาคารเก่าที่ทรุดโทรม ปรับปรุงศาลาด้านหน้ามุงกระเบื้องใหม่ เทพื้นคอนกรีตเชื่อมกับด้านหน้าของศาลเจ้าเพื่อความสะดวกในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๑ ปี โดยอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของผู้มีจิตศรัทธาต่อศาลเจ้าท่งเฮงตั๊วช่วยกันสละเวลาและทุนทรัพย์ จนสามารถก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงในเวลาอันรวดเร็วเป็นศาลเจ้าที่สวยงามกับผู้ที่ได้พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน และได้จัดให้มีการฉลองศาลเจ้าครบ ๑๐๔ ปี พร้อมทั้งเปิดอาคารหลังหน้าและหอประชุมที่สร้างใหม่ เมื่อวันพุธที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒ (ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖) โดยมี พระมงคลวิสุทธิคุณ(หลวงพ่อลำใย)วัดทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพล.ต.ท.บุญชัย ชื่นสุธน ผช.ผบช.ตำรวจแห่งชาติเป็นประธานฝ่ายฆาราวาส
ภาพศาลเจ้าได้รับการบูรณะหลังปี พ.ศ.2540 เป็นศาลเจ้าในยุคที่ 4 (เป็นยุคปัจจุบัน)
|
พ.ศ. ๒๕๔๓ ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารด้านหลังของศาลเจ้า ทำพื้นไม้ใหม่ ทำที่พักของสงฆ์ และญาติธรรมที่มาร่วมกินเจ ทำแท่นบูชาใหม่ด้วยหินแกรนิต ทำราวรั้ว สแตนเลสตรงทางเดินด้านหน้า
พ.ศ. ๒๕๔๔ ช่วงต้นปีได้มีการเทพื้นคอนกรีตด้านข้างศาลเจ้าตลอดแนวเดียวกับเจดีย์เผากระดาษเงินกระดาษทอง
พ.ศ. ๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ เป็นศาลเจ้าบริหารงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๕ จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
|